เราควรให้ความสุขแก่องค์กรตามอัตภาพ

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในปีนี้ตรงกับวันที่  15 กรกฎาคม 2554  เป็นวันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์  ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี   ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร

คำสอนของพระพุทธเจ้าสั่งสอนพวกเราอะไรนั้นมีอยู่มากมายแต่หากจะเอาเรื่องที่เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชานี้ ก็น่าจะเป็นเรื่อง ใจความสำคัญของปฐมเทศนา ซึ่งมีหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ 1. มัชฌิมาปฏิปทา กับ 2. เรื่อง อริยสัจ 4

เรื่องที่อยากเขียนวันนี้ เป็น เรื่อง มัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่ถือว่าถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด หรือสุดขั้ว 2 อย่างหนึ่งอย่างใด หรือ ทั้ง 2 อย่าง คือ

ก. การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข  (บาลีว่า “กามสุขัลลิกานุโยค”…แต่อย่าไปสนใจจำ..)

ข. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า (บาลีว่า “อัตตกิลมถานุโยค”…แต่อย่าไปสนใจจำ..)

นั่นคือ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ ภาษาบาลี เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ (ผมเองก็ไม่รู้ภาษานี้หรอก แต่มันแปลได้ว่า “มรรคมีองค์ 8” ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง ไม่ใช่เห็น ขาวเป็นดำ เห็นดำเป็น ขาว หรือเป็นเทา คนเราสมัยนี้ชอบตีความเข้าข้างตัวเอง รู้เต็มอกว่าทำอะไรไม่เป็นไปตามระเบียบ ขี่มอเตอร์ไซด์ไม่สวมหมวกกันน็อค รู้ว่าผิดกฎหมาย พอโดนจับก็บอกว่าไม่รู้กฎหมาย พยายามเลี่ยงว่า มันยังมีพื้นที่ “เทาๆ”อยู่ คนเรามันต้องรู้จักยืดหยุ่น อะไรทำนองนั้น ต้องบอกว่าคนละเรื่อง บริบทของการยืดหยุ่นเป็นเรื่องทักษะการบริหาร ไม่ใช่เรื่องคุณธรรมหรือศีลธรรม  ถ้าละเรื่องแบบนี้ได้…องค์กรเราก็จะมีความสุข

2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม อะไรดี แล้วอะไร ไม่ดีล่ะ.. อย่าแกล้งถามเลยครับ รู้กันอยู่แล้ว ดีชั่วแยกออก อย่าแกล้งทำเป็นไม่รู้ หรือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเลย ถ้าดำริชอบได้…องค์กรเราก็จะมีความสุข

3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต อันนี้ ในองค์กรเรา ถ้าไม่นินทาว่าร้ายกัน ไม่ตอแหล (ตัวอย่างการตอแหลก็  เช่น เพิ่ง กิน ข้าวมา เมื่อกี้ แต่ พอมีคนถามกลับบอกว่า ผมยังไม่ได้กินอะไรเลยตั้งแต่เมื่อวาน …น่าสงสารมาก….ถ้าองค์กรเราปราศจากคนตอแหลได้…ก็มีความสุขโขแล้ว

4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่ทำแล้ว คนอื่นไม่เดือดร้อน (คนอื่นหมายถึงคนดีครับ ส่วนที่ทำแล้วโจรผู้ร้ายเดือดร้อน ก็ให้เข้าใจเอาเถอะนะ) เปิดเพลงที่เราชอบดังๆ แต่คนอื่นเขาหนวกหู พูดแต่เรื่องที่ตนเองอยากพูด แต่คนอื่นเขาเบื่อจะฟัง มันก็เข้าข่ายนะ ถ้าทำแบบนี้ได้…องค์กรเราก็จะมีความสุข

5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต  อาชีพข้าราชการถือเป็นอาชีพสุจริตครับ แต่ถ้าโกงกิน ก็ถือว่าเป็นโจร (เราคงเคยได้ยินคำว่า โจรใส่สูท ผูกเน็คไทต์ บ่อยๆ น่ากลัวครับ ยิ่งมีความรู้มากแต่ใช้ความรู้ในทางที่ผิด ยิ่งน่ากลัวกว่าพวกโจรลักเล็กขโมยน้อยซะอีก) ถ้าปราศจากคนแบบนี้ได้…องค์กรเราก็จะมีความสุข

6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี หลายคนมีความพยายามสูงมาก ทุ่มเททำงานทั้งกลางวันกลางคืนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เรียนจบ หลายปริญญา แต่ไม่เคยพยายามแม้สัก 1 นาทีที่จะหยุดให้ร้ายคนอื่น ถ้าทำได้…องค์กรเราก็จะมีความสุข

7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด เป็นข้าราชการต้องระลึกว่าทำงานเพื่อประเทศถึงจะเป็นระลึกชอบ อย่าเทียวเผลอไประลึกว่าทำเพื่อตนเอง เมื่อไหร่ เงินเดือนจะขึ้น เมื่อไหร่จะมีรถประจำตำแหน่งให้ เมื่อไหร่จะได้เป็นรองศาสตราจารย์..เมื่อไหร่จะได้เป็นศาสตราจารย์.. เมื่อไหร่จะรวย ของพวกนี้ ทำดี ทำชอบ ถึงเวลามันมาเองครับ ถ้าระลึกเช่นนี้ได้…องค์กรเราก็จะมีความสุข

8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน ข้อนี้ผมเองไม่ใช่ว่าทำได้ แต่ก็ไม่เคยฟุ้งซ่าน เป็นคนธรรมดาก็รู้ว่า ธรรมดา ไม่เคยคิดว่าเป็นเทวดา  รู้ว่า เวลาทำงานก็มีความสามารถจำกัด อะไรที่ต้องทำเป็นทีมก็ทำเป็นทีม อะไรที่คนอื่นทำได้ดีกว่าเราก็ยอมรับ อะไรที่คนอื่นเก่งกว่าก็สนับสนุนให้เขาทำ  ถ้าเราไม่ฟุ้งซ่านว่าเราเป็น “Superman” เราก็จะไม่ไปขัดขวางงานของคนอื่น… องค์กรเราก็จะมีความสุข

คนทุกคน แบ่งชีวิตออกหยาบๆ เป็น 2 ด้าน  คือเรื่องที่บ้าน กับ เรื่องที่ทำงาน

ทางสายกลางของ 2 เรื่องนี้ ก็ คือ ทำทั้ง 2 อย่างให้สมดุล เข้าทำนอง “งานหลวงอย่าให้ขาด งานราษฎร์อย่าให้เสีย”

งานหลวงก็อาจแบ่งได้หยาบๆอีกว่า “งานหลัก กับ งานรอง”

1 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง ทำงานในหน้าที่ 2 ชั่วโมง เล่นเกม 3 ชั่วโมง  ตีกอล์ฟ 4 ชั่วโมง  มันก็ไม่เป็นสายกลาง องค์กรก็เสียประโยชน์ เป็นผู้บริหาร ทำงานบริหารน้อยกว่างานอื่น องค์กรก็เสียประโยชน์ มันก็เสียสมดุล เป็นนักศึกษา เรียน 3 ชั่วโมง ทำกิจกรรม ซะ 6 ชั่วโมง มันก็เสียสมดุล

ในที่ทำงาน มีคนอายุมากกับอายุน้อย มีคนตำแหน่งสูงกับตำแหน่งต่ำ มีผู้นำกับผู้ตาม

มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน มีเขียนไว้หลายข้อ มีที่ไม่ได้เขียนไว้ก็เยอะ

ไม่มีเลยซักข้อที่บอกว่าให้คิดร้าย ว่าร้ายต่อกัน

มีแต่ให้ช่วยเหลือกัน

ทำได้เท่านี้เราทุกคนก็ถือว่า ได้ให้ความสุขแก่องค์กรตามอัตภาพแล้ว