คลังเก็บรายเดือน: กรกฎาคม 2011

วันสถาปนา มอบ.

มีข้อถกเถียงกันแบบที่เล่นทีจริง ว่า มอบ.เกิดวันที่ 29 ก.ค.33 หรือ 30 ก.ค.33 กันแน่

วันที่ 29 ก.ค.33 คือวันที่ พรบ.มอบ.ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา พรบ.มอบ.นั้นเป็นกฎหมาย การตรากฎหมายเพื่อใช้งานนั้นเมื่อ ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเป็นการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่ามีกฎหมายฉบับนี้แล้ว และตามหลักปฏิบัติทั่วไปพรบ.จะเขียนไว้ว่ากฎหมายนี้ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นคือ 30 ก.ค.2533

ก็ไม่ต้องเถียงกันมากหรอก เอาเป็นว่า ปฎิสนธิในวันที่ 29 แล้วก็คลอดวันที่ 30 ก็แล้วกัน

เรื่องสำคัญกว่า คือ วันเกิดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครคิดยังไง

บางคนก็เห็นว่าสำคัญมาก ก็จัดงานซะใหญ่โต

บางคนเฉยๆ  ทำบุญตักบาตรเงียบๆ ไม่บอกใคร

บางคนลืมวันเกิดตัวเองไปเลย (บางคนแกล้งลืมเพราะไม่อยากเลี้ยงเพื่อน แต่ยังอยากได้ของขวัญ)

พระพยอม กัลยาโน บอกว่าวันเกิด ต้องจัดงานวันเกิดให้แม่เรา เพราะแม่เราเป็นคนเบ่งให้เราเกิด

ส่วนพวกที่ผ่าท้องออกมาก็เลยบอกว่าถ้างั้นฉันต้องจัดงานวันเกิดให้หมอด้วยเพราะหมอเป็นคนผ่าท้องแม่ให้เราเกิด ยุ่งกันไปหมดเพราะมีแต่เถียงกันไปข้างๆคูๆ

สรุปง่ายๆก็แค่ ให้ตระหนักว่าวันนั้นมีความสำคัญและคุณค่าอย่างไรใครที่เราควรรำลึกถึงบ้าง หาโอกาสตอบแทนบ้าง เป็นเรื่องของ “กตัญญู กตเวทิตา”

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกิดขึ้นจากคุณูปการของ ท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี และมีอีกหลายๆ ช่วยกัน เช่น รัฐมนตรีอนุวรรต วัฒนพงศ์ศิริ  รศ.อุทิศ หิมะคุณ  รศ.ดร.วรพงศ์ สุริยภัทร(สุริยจันทราทอง) ฯลฯ ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนามอีกหลายท่าน

กตัญญู คือรู้คุณ รู้+สำนึกว่าใครทำประโยชน์ให้เรา มีบุญคุณต่อเรา

กตเวทิตา คือ การตอบแทน

สองคำนี้พระท่านบอกว่าเป็น “เครื่องหมายแห่งคนดี”

คนจีนก็นับถือเรื่องนี้เป็นอันดับต้น เขียนเป็น กฎเด็ดขาดว่า คนขาด“กตัญญู กตเวทิตา” ไม่มีวันประสบความสำเร็จ

คิดแบบคณิตศาสตร์ รู้กตัญญู ก็ได้ไป 50 คะแนน  รู้ กตเวทิตา ก็ได้อีก 50 คะแนน

บางคนคิดว่า สองคำนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่ครับ เป็นคนละคำและความหมาย และควรมีทั้ง 2 คำ

ลองนึกดูซิ ยังมีคนอีกเยอะที่ ไม่มีทั้ง กตัญญู และกตเวที

…..

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ก็ไม่ได้หวังอะไรมาก

อยากฝากแค่ว่า  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ท่านทำงานกินเงินเดือนอยู่ทุกวันนี้ นั้น ยังพอจะนับว่าเป็นผู้มีคุณกับท่านบ้างไหม

ตอบแทนมหาวิทยาลัยบ้างเถอะ อย่าคิดแต่จะเอาอย่างเดียว

ถือเป็นของขวัญวันเกิดแก่ สถาบัน

และเป็นกตเวทิตาแก่บุคคลต่างๆที่ได้สร้าง มอบ.ไว้ให้พวกเรา

เราควรแสดงท่าทีอย่างไรต่อการรวมคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบเข้ามาในคณะวิศวะ

สิ่งที่จะต้องพิจารณาเรื่องนี้มี 3-4 เรื่อง คือ

1.หลักสูตร ปรัชญาของหลักสูตร ศิลปะประยุกต์ นั้น มุ่งเน้นไปคนละทางกับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์

ดังนั้นการจัดการให้ 2 แนวทางมาอยู่ในคณะเดียวกัน ย่อมทำได้ยาก แต่หากจะเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นกลุ่มวิชา Industrial Design ก็ไม่มีความจำเป็นเพราะในสาขาIE ก็มีสอนเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว

2.เราจะยอมรับนักศึกษาปัจจุบันซึ่งตามคะแนนสอบแล้ว ต่ำกว่าคะแนนวิศวะได้หรือไม่ (ในทางปฏิบัติ นศ.ปัจจุบันของ หลักสูตรต้องเรียนไปจนจบแล้วจึงค่อยๆสลายหลักสูตรไป)

3.อาจารย์ ทั้งหมดของศิลปะประยุกต์ ไม่มีคุณวุฒิทางวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้น ภาระที่จะโอนอาจารย์คณะศิลปะประยุกต์มาเป็นอาจารย์วิศวะคงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ในเหตุผลทางมาตรฐานวิชาชีพและเหตุผลด้านการประกันคุณภาพ

4.บุคลากรในในกลุ่มสนับสนุนหากมีความจำเป็นต้องผนวกเข้ามาในบางส่วนที่ยังขาดแคลนก็เป็นไปได้ แต่ หากคำนึงถึงเหตุผลเรื่องงบประมาณในการบริหารจัดการแล้ว เป็นภาระที่คณะคงไม่สามารถรับได้เพราะ เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างสูง เมื่อเทียบกับผลผลิตที่จะได้

5.ชาวคณะวิศวกรรมศาสตร์ คิดอย่างไร?

ทำงานไปวัน ๆ หรือ  นี่เป็นอนาคตของคณะ นะครับ ผมคิดว่าเราทุกคนต้องมีส่วนในการตัดสินใจด้วย

เราควรให้ความสุขแก่องค์กรตามอัตภาพ

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในปีนี้ตรงกับวันที่  15 กรกฎาคม 2554  เป็นวันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์  ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี   ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร

คำสอนของพระพุทธเจ้าสั่งสอนพวกเราอะไรนั้นมีอยู่มากมายแต่หากจะเอาเรื่องที่เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชานี้ ก็น่าจะเป็นเรื่อง ใจความสำคัญของปฐมเทศนา ซึ่งมีหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ 1. มัชฌิมาปฏิปทา กับ 2. เรื่อง อริยสัจ 4

เรื่องที่อยากเขียนวันนี้ เป็น เรื่อง มัชฌิมาปฏิปทา (เพิ่มเติม…)

การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย R2R- Routine to Research

เมื่อ 05-07-54 ผมไปเข้าร่วมกิจกรรม “การจัดการความรู้กับการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย R2R- Routine to Research” ที่วิทยาลัยแพทย์ มอบ. ถือเป็นหนึ่งวันที่ไม่สูญเปล่า เพราะได้รับฟังประสบการณ์ของ ดร.นิภาพร ลครวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้าน R2R  เลยมีเรื่องมาเขียน ดังนี้

1.การจุดประเด็นความคิด ว่า

เดี๋ยวนี้การเรียนรู้ การสอนนักศึกษา การสอนคน เราสอนกันแบบ บอกความรู้ คือใครไปเรียนอะไรมา ก็จำมาบอกคนอื่นต่อ ใครจำจากพระอาจารย์ได้มาก ก็มาสอนได้มาก ถือว่าสอนเก่ง ลูกศิษย์ต้องเรียนจากอาจารย์  อาจารย์ (บางคน..ไม่ใช่ทุกคน)เก่งแล้ว ทำใมต้องไปเรียนรู้จากลูกศิษย์ เราไม่สอนให้คนเกิดความคิด หรือการค้นพบความรู้ด้วนตนเอง ซึ่ง จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ 2500 ปี ว่า ความรู้เกิดจากการตั้งข้อสงสัย คิด ใคร่ครวญ หาคำตอบ การค้นพบคำตอบทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งนี้เกิด เพราะสิ่งนี้ (หลัก เหตุ-ปัจจัย) ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแปลว่าเราเกิดความรู้ และถ้ารู้ว่าสิ่งต่างๆมันเชื่อมโยงไปถึงกันอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า “มีปัญญา” การมีความรู้และมีปัญญา ไม่ต้องจำ ไม่ต้องท่อง คือมันเข้าใจอยู่แล้ว ถามเมื่อไหร่ก็ตอบได้เมื่อนั้น แถมเราจะสามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายได้  แต่ถ้าไปท่องมาตอบแบบไม่เข้าใจแล้ว เวลาอธิบายให้คนอื่นฟัง อย่าหวังว่าจะง่าย แถมทำให้เข้าใจยากขึ้นไปอีก  เหมือนเราเข้าใจว่า ทำไมคนต้องกินข้าว ต้องดื่มน้ำ นั่นเอง  ดังนั้น การสอนคนจึงต้องสอนให้คิด ถ้าคิดได้ตามหลักเหตุผล ก็หาความรู้ได้ และการหาความรู้จะเป็นเรื่องสนุก
น่าติดตาม

ลองสำรวจตัวเอง ซิ ว่าเราเป็นแบบนี้ไหม ?

R2R จึงเป็นการเรียนรู้จากงานประจำ ย้ำ ว่างานประจำของตัวเอง  อย่าเที่ยวไปสาระแน รู้เรื่องคนอื่นเขา เหมือน ที่มีคนเคยถูกเหน็บว่า “ รู้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องของตัวเอง เก่งทุกงานยกเว้นงานในหน้าที่ และอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่ทำงานของตัวเอง” ดังนั้น คนที่ สามารถ ทำ R2R ได้ ก็คือทุกคนที่มีงานประจำ ถ้าทำตามนี้

สำรวจงานตัวเอง ว่า มีจดไหน เรื่องไหนที่มันกระตุก ต่อม “เอ๊ะ” เราบ้าง  เช่น

เอ๊ะ..ทำไม ส่งหนังสือไปภาคเครื่องกล มันดันไปโผล่ที่ภาคไฟฟ้า บ่อยๆ

เอ๊ะ..ทำไม 3วันแล้ว เรื่องที่ปั้ม “ด่วนที่สุด ยังไปไม่ถึงปลายทางซะที

เอ๊ะ..วันหนึ่งเราต้องเดินไปส่งงานตึกโน้น ตึกนี้รวมแล้วก่กิโลเมตรนะ ถ้าจะไม่ต้องเหนื่อยขนาดนั้นจะทำยังไง

เอ๊ะ..ทำไม……..

ถ้าเรา เอ๊ะ..ทำไม……..ได้ เราก็ทำ R2R ได้

เชื่อว่าทุกคนย่อมอยากทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จ มีผลงานดีขึ้น และถ้าทำได้ เราต้องรู้สึกอยู่ 2 อย่าง คือ 1) ภูมิใจ  2) ปลื้มใจ  ใครไม่รู้สึก 2 อย่างนี้แปลว่าที่ทำๆมาน่ะ ทำแบบขอไปที่ ไม่ได้สนใจว่าทำไปเพื่ออะไร… (และขอแนะนำให้รีบลาออกไปโดยด่วน อยู่ไปก็เป็นตัวถ่วงความเจริญ)

ต่อจาก ข้อ 1)+2) เชื่อว่า คนๆนั้น ต้องมี “เรื่องเล่าที่เราภูมิใจ”เป็นของตัวเอง แน่นอน เพราะใครๆก็อยากเล่าเรื่องความสำเร็จของตนเองให้คนอื่นฟัง ( การทำ KM ด้วยวิธีนี้ จึงได้ผลดี)

กระบวนท่า R2R

1.หาปัญหา (ทุกข์:ค้นหาความทุกข์)

2.หาสาเหตุของปัญหา (สมุทัย:ค้นหาเหตุแห่งความทุกข์)

3.การแก้ปัญหามองหากระบวนการแก้ปัญหา (นิโรธ:การดับความทุกข์)

4.แนวทางดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา

คือ ลงมือปฏิบัติเพื่อพิสูจน์+เก็บข้อมูล+รายงาน+บันทึกบทเรียน(มรรค:หนทางเพื่อการดับทุกข์)

2.ทำไม สายสนับสนุนจึงไม่ต้องกังวลสำหรับ R2R

  1. “ไม่” ต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัย
  2. “ไม่”ใช่งานวิจัยที่ทำแล้วเอาไปขึ้นหิ้ง
  3. “ไม่”ใช่โจทย์วิจัยแบบนักวิชาการ  แต่โจทย์มาจากงานสายสนับสนุน
  4. “ไม่”ทำคนเดียว แต่ทำเป็นทีม
  5. “ไม่”เคยมีความรู้เรื่องทำวิจัยก็ทำ R2R ได้ เรียนรู้จากการทำจริง และมี “คุณอำนวย” ค่อยช่วยเหลือ
  6. R2R “ไม่”ได้เริ่มจากการอยากทำงานวิจัย แต่ ต้องเริ่มจากการอยากพัฒนางาน
  7. “ไม่”ต้องเริ่มจากการศึกษาระเบียบวิธีวิจัย แต่เริ่มจากการ “หาประเด็นคำถาม”จากงานประจำ และสืบค้นข้อมูลเพื่อสนับสนุนประเด็นนั้น
  8. “ไม่”ต้องการทุนวิจัยจำนวนมาก และอาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลย
  9. “ไม่”ได้วัดความสำเร็จจากจำนวนงานวิจัย แต่วัดจากการนำไปใช้ประโยชน์
  10. R2R “ไม่ใช่”งานวิจัยชั้น 2 แต่งานวิจัย R2R ต้องมีความแม่นยำเชื่อถือได้ (ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำตามระเบียบวิธีวิจัยและไม่ต้องทำการวิเคราะห์ทางสถิติที่ซับซ้อน)

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

http://gotoknow/post/tag2r2r

www.hsri.or.th/r2r

kapoom@gmail.com

http://gotoknow.org/planet/kapoom

http://file.portal.in.th/phueng1909/PDF/R2R.pdf